ขายซิม5gสระแก้ว

สระแก้ว เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย แยกออกมาจากจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2536

  • ตราประจำจังหวัด : พระพุทธรูปปางสรีระประทับยืนบนดอกบัว ด้านหลังเป็นภาพพระอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ตอนกลางเป็นภาพโบราณสถานปราสาทเขาน้อยสีชมพู
  • คำขวัญประจำจังหวัด : ชายแดนเบื้องบูรพา ป่างาม น้ำตกสวย มากด้วยรอยอารยธรรมโบราณ ย่านการค้าไทย-เขมร
  • ต้นไม้ประจำจังหวัด : มะขามป้อม (Phyllanthus emblica)
  • ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกแก้ว (Murraya paniculata)
  • สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาบ้าหรือปลาพวง (Leptobarbus hoevenii)

ประวัติศาสตร์

ในสมัยอาณาจักรสุวรรณภูมิและอาณาจักรทวารวดี สระแก้วเป็นชุมชนที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง มีฐานะเป็นเมืองขึ้นของเมืองปราจีนบุรี (เมืองประจิมในสมัยโบราณ)

สระแก้ว เป็นชื่อที่มาจากชื่อสระน้ำโบราณซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว มีอยู่จำนวน 2 สระ ในสมัยกรุงธนบุรีราวปี พ.ศ. 2323 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) เป็นแม่ทัพยกทัพไปตีกัมพูชา (เขมร) ได้แวะพักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ กองทัพได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและได้ขนานนามสระทั้งสองว่า “สระแก้ว-สระขวัญ” และได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งนี้ใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์

สมัยก่อนสระแก้วมีฐานะเป็นตำบลขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดกบินทร์บุรี ซึ่งทางราชการได้ตั้งเป็นด่านสำหรับตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปี พ.ศ. 2452 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า กิ่งอำเภอสระแก้ว โดยใช้ชื่อสระน้ำเป็นชื่อกิ่งอำเภอ ขึ้นกับอำเภอกบินทร์บุรี ภายหลังจังหวัดกบินทร์บุรีถูกยุบ จึงถูกยุบรวมกับจังหวัดปราจีนบุรี (เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2468) ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอสระแก้ว ขึ้นอยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัด เป็นจังหวัดลำดับที่ 74 ของประเทศไทย

 

การเกิดชุมชนและการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระแก้ว

ประมาณ 4,000 ปีก่อน บริเวณอ่าวไทยยังเป็นทะเลโคลนตมเว้าลึกเข้ามาในแผ่นดินมากกว่าปัจจุบัน พื้นที่ที่เป็นจังหวัดสระแก้วยังไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นเพียงแค่ทางผ่าน ต่อมาเริ่มมีคนมาตั้งถิ่นฐานจนขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ผู้คนพากันตั้งหลักแหล่งบริเวณเชิงเขา ซึ่งปัจจุบันคือ อำเภอตาพระยา อำเภอโคกสูง อำเภอวัฒนานคร อำเภออรัญประเทศ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอเขาฉกรรจ์ โดยเฉพาะบนสองฝั่งลำน้ำพระปรงและพระสะทึง จากนั้นผู้คนได้กระจายออกไปอยู่บริเวณที่ดอนกลางทะเลโคลนตม ที่ปัจจุบันคือ อำเภอบ้านสร้าง อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม ในจังหวัดปราจีนบุรี

พ.ศ. 1000 ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระแก้วได้พัฒนาเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มลำน้ำพระปรง-พระสะทึง มีวัฒนธรรมแบบสุวรรณภูมิสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และแบบทวาราวดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เขาฉกรรจ์ และกลุ่มลำห้วยพรมโหด มีวัฒนธรรมแบบขอม ศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทเขาน้อย-เขารังและบ้านเมืองไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออรัญประเทศ)

สมัยโบราณ สระแก้วมีความสำคัญในด้านเป็นเส้นทางคมนาคมทางตะวันตก-ตะวันออก (ระหว่างเมืองชายฝั่งทะเลอ่าวไทยกับกัมพูชา) และทางเหนือ-ใต้ (ระหว่างเมืองในลุ่มน้ำโขง ชี มูล กับเมืองชายฝั่งทางจันทบุรี) กระทั่งหลัง พ.ศ. 1500 รัฐพื้นเมืองต่าง ๆ ในสุวรรณภูมิมีการปรับตัวเนื่องจากการทำการค้ากับจีน ประกอบกับภูมิประเทศบริเวณอ่าวไทยเปลี่ยนแปลงกลายเป็นแผ่นดินตื้นเขินขึ้น เส้นทางคมนาคมทางน้ำเปลี่ยนแปลง ผู้คนจึงอพยพย้ายถิ่นออกจากสระแก้ว

บริเวณลุ่มน้ำบางปะกงมีกลุ่มบ้านเมืองเกิดขึ้นราว พ.ศ. 1900 เป็นชุมชนขนาดเล็ก ผู้คนเสาะหาของป่าเพื่อส่งส่วยให้แก่ราชธานีต่าง ๆ ต่อมาพัฒนาเป็นเมืองชายแดน เป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปยังกัมพูชา

 

เส้นทางการเดินทัพในอดีต

สระแก้วเป็นเมืองชายแดน จึงเป็นทางผ่านของกองทัพในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ่อยครั้ง ดังปรากฏหลักฐานจำพวกจารึกต่าง ๆ และอนุสาวรีย์ของผู้นำทัพที่ผ่านมายังเมืองนี้

สมัยอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งยังเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ได้ยกทัพมาปราบปรามอริราชศัตรูที่ลักลอบเข้าโจมตี กวาดต้อนผู้คนบริเวณชายแดน มีการตั้งค่ายคูเมือง ปลูกยุ้งฉาง ไว้ที่ท่าพระทำนบ ซึ่งเชื่อว่าคือ อำเภอวัฒนานคร ในปัจจุบัน

ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากทรงหนีพม่าไปเมืองจันทบุรี โดยพาไพร่คนสนิทหนีฝ่ากองทัพพม่าไปทางทิศตะวันออก ผ่านบริเวณ ดงศรีมหาโพธิ์ อันเป็นเขตป่าต่อเนื่องจากที่ราบลุ่ม ขึ้นไปถึงที่ลุ่มดอนของเมืองสระแก้ว แล้วไปยังชลบุรี ระยอง และจันทบุรี

สมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งเป็นเจ้าพระยาจักรี พร้อมบุตรชาย ยกทัพไปเสียมราฐและได้แวะพักแรมในบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า สระแก้ว สระขวัญ

ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขุนพลแก้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พักทัพก่อนยกไปปราบญวน ณ บริเวณที่ภายหลังเมื่อเสร็จศึกญวนแล้วสร้างเป็นวัดตาพระยา อำเภอตาพระยา

 

การรวมตัวของคนหลายเชื้อชาติ

จังหวัดสระแก้ว เป็นที่รวมของคนหลายเชื้อชาติ ทั้งเขมร ญวน ลาว และญ้อ

ชาวเขมรอพยพเข้ามาในสระแก้ว เนื่องจากเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง อพยพชาวเขมรให้เข้ามาในฝั่งไทยภายหลังเหตุการณ์ที่ไทยเข้าปกครองกัมพูชาและจัดตั้งมณฑลบูรพาขึ้น แล้วถูกฝรั่งเศสยึดกัมพูชารวมทั้งมณฑลบูรพาคืนไปได้ นอกจากนี้เมื่อเกิดสงครามเวียดนามและสงครามกัมพูชาขึ้น ก็มีการอพยพชาวกัมพูชาเข้ามาในบริเวณชายแดนฝั่งไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตอำเภออรัญประเทศ

ชาวเวียดนามหรือญวนอพยพมายังจังหวัดสระแก้ว เพื่อหนีภัยสงครามเวียดนามในยุคที่เวียดนามใต้แตก โดยเดินทางผ่านประเทศกัมพูชาเข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภออรัญประเทศ

ส่วนชาวลาวมีหลายกลุ่ม ดังเช่นกลุ่มไทยโยนกหรือลาวพุงดำเป็นกลุ่มล้านนาเดิม อาศัยมากอยู่ที่อำเภอวังน้ำเย็น รวมทั้งชาวญ้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่สิบสองปันนาแล้วไปตั้งรกรากที่แขวงไชยบุรีของลาว ต่อมาถูกทัพไทยกวาดต้อนลงมาที่ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยบางส่วนได้อพยพต่อมายังอำเภออรัญประเทศ นอกจากนี้ยังมีชาวอีสานอพยพเข้ามาทำมาหากินในเกือบทุกอำเภอของจังหวัดสระแก้ว

 

ร่องรอยอารยธรรม

มีร่องรอยอารยธรรมโบราณปรากฏอยู่ในจังหวัดสระแก้วในรูปของปราสาทหิน แหล่งหินตัด ซากสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น กรมศิลปากรสำรวจพบปราสาทขอมในจังหวัดสระแก้วมากถึง 40 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางผ่านช่องเขา หันไปทางทิศตะวันออก คือหันหน้าเข้าหานครวัด เท่าที่มีหลักฐาน พบว่าปราสาทเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากฝั่งภูเขาที่ไร้เส้นเขตแดนในอดีต และตัวปราสาทยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณอีกด้วย ลึกลงไปในผืนดินพบโบราณวัตถุซึ่งยังคงขุดค้นอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ บ้านหนองผักแว่น ตำบลคลองยาง อำเภอตาพระยา เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบ เช่น พระพุทธรูป ชิ้นส่วนเทวรูป ลูกปัด ขวานหิน หินบดยา หม้อ ไห ฯลฯ ชี้ให้เห็นการเป็นชุมชนที่มีระบบความเชื่อและวัฒนธรรม ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ มีชุมชนห้วยโสมง อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี คลองบ้านนา อำเภอบ้านนา และดงละคร ในจังหวัดนครนายก คลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

 

ที่ตั้งและอาณาเขต

สระแก้ว เป็นจังหวัดชายแดนด้านตะวันออกตอนบนของประเทศ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 13 องศา 15 ลิปดา ถึง 14 องศา 15 ลิปดาเหนือ กับประมาณเส้นแวงที่ 101 องศา 45 ลิปดา ถึง 103 องศาตะวันออก โดยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก ติดกับประเทศกัมพูชา
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดจันทบุรี
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

การปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 58 ตำบล 731 หมู่บ้าน

อำเภอเมืองสระแก้ว
อำเภอคลองหาด
อำเภอตาพระยา
อำเภอวังน้ำเย็น
อำเภอวัฒนานคร
อำเภออรัญประเทศ
อำเภอเขาฉกรรจ์
อำเภอโคกสูง
อำเภอวังสมบูรณ์