ชัยนาท เดิมสะกดว่า ไชยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย
- คำขวัญประจำจังหวัด : หลวงปู่ศุขลือชา เขื่อนเจ้าพระยาลือชื่อ นามระบือสวนนก ส้มโอดกขาวแตงกวา
- ตราประจำจังหวัด : รูปพระธรรมจักร รองรับด้วยพญาครุฑ เบื้องหลังเป็นแม่น้ำและภูเขา ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์รูปพระธรรมจักรที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารวัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล
- ธงประจำจังหวัด : เป็นรูปตราประจำจังหวัดบนพื้นสีบานเย็น (magenta) ซึ่งเป็นสีประจำจังหวัด
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : มะตูม (Aegle marmelos)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกชัยพฤกษ์ (Cassia javanica)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาแดง (Phalacronotus bleekeri)
ประวัติศาสตร์
ชัยนาทแปลตามศัพท์มีความหมายว่า “เสียงบันลือแห่งชัยชนะ” เป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่ง ตัวเมืองเดิมอยู่บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองแพรกศรีราชา ใต้ปากน้ำเก่า สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยพญาเลอไทครองกรุงสุโขทัยระหว่าง พ.ศ. 1860-1879 เมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านทางใต้ เมื่อกรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง เมืองแพรกได้กลายเป็นเมืองหน้าด่านทางตอนเหนือของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เกิดชุมชนใหม่ไม่ไกลจากเมืองสรรค์ เมืองที่เกิดขึ้นใหม่นี้เป็นเมืองใหญ่ มีชื่อว่า ชัยนาท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายตัวเมืองจากบริเวณแหลมยาง มาตั้งตรงฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเมืองสรรค์นั้นเสื่อมลงเรื่อย ๆ เพราะผู้คนอพยพมาอยู่ที่ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ในที่สุดก็กลายเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของชัยนาทเท่านั้น ชัยนาทเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกพม่าหลายครั้งและมีชัยทุกครั้งไป จึงเป็นที่มาของชื่อเมืองชัยนาทแห่งนี้
การปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 53 ตำบล 503 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองชัยนาท
อำเภอมโนรมย์
อำเภอวัดสิงห์
อำเภอสรรพยา
อำเภอสรรคบุรี
อำเภอหันคา
อำเภอหนองมะโมง
อำเภอเนินขาม