เขตหนองจอก เป็น 1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร เป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่มากที่สุดของกรุงเทพมหานคร
จัดอยู่ในกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นท้องทุ่งและเกษตรกรรม มีลำคลองไหลผ่านหลายสาย
ประวัติศาสตร์
เดิม เขตหนองจอกมีฐานะเป็น อำเภอหนองจอก ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลุ่มผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานพวกแรก ๆ เป็นชาวไทยมุสลิมที่อพยพมาจากหัวเมืองภาคใต้ โดยตั้งชุมชนตามแนวคลองแสนแสบซึ่งได้มีการขุดลอกขยายคลองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีก 5 ปีต่อมา (พ.ศ. 2445) อำเภอหนองจอกก็ได้มาขึ้นอยู่กับเมืองมีนบุรีซึ่งเป็นหัวเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในมณฑลกรุงเทพ
ต่อมา เกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของทางราชการ ในปี พ.ศ. 2474 จังหวัดมีนบุรีจึงถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดพระนคร ส่วนอำเภอหนองจอกถูกโอนไปขึ้นกับจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางและการติดต่อระหว่างกัน ในปีถัดมา (พ.ศ. 2475) ทางราชการจึงได้ย้ายอำเภอหนองจอกมาเป็นเขตการปกครองในจังหวัดพระนคร
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2514 มีประกาศคณะปฏิวัติให้รวมจังหวัดพระนครกับจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปีถัดมา (พ.ศ. 2515) ก็มีประกาศคณะปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเมืองหลวงใหม่อีกครั้งจากนครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นกรุงเทพมหานคร แบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตและแขวงแทนอำเภอและตำบล อำเภอหนองจอกจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เขตหนองจอก นับแต่นั้น
ที่ตั้งและอาณาเขต
เขตหนองจอกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของกรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลำลูกกา (จังหวัดปทุมธานี) มีแนวคันนาแบ่งเขตการปกครองระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปทุมธานีเป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา (จังหวัดฉะเชิงเทรา) มีคลองสิบสี่ คลองแสนแสบ คลองบึงทองหลาง (บุน้ำรักษ์) คลองนครเนื่องเขต และคลองหลวงแพ่งเป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตลาดกระบัง มีคลองลำตาแฝง คลองลำตาอิน คลองกระทุ่มล้ม คลองลำพะอง คลองลำมะขาม และคลองลำกอไผ่เป็นเส้นแบ่งเขต
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา มีคลองลำนกแขวก คลองลำต้นไทร คลองลำหินฝั่งใต้ คลองแยกคลองลำหินฝั่งใต้ ลำรางข้างซอยราษฎร์อุทิศ 70 คลองแสนแสบ คลองลัดตาเตี้ย คลองแบนชะโด และคลองเก้าเป็นเส้นแบ่งเขต