จังหวัดอ่างทอง เป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง พิกัดภูมิศาสตร์เส้นรุ้งที่ 14 องศา 35 ลิปดา 12 พิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ 100 องศา 27 ลิปดา ห่างจากกรุงเทพมหานครมาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ระยะทางประมาณ 108 กิโลเมตร และเส้นทางเรือตามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงตลาดท่าเตียน ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร มีรูปร่างลักษณะคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีส่วนกว้างตามแนวทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก และส่วนยาวตามแนวทิศเหนือถึงทิศใต้ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 968.372 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 605,232.5 ไร่ และมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอค่ายบางระจัน อำเภอพรหมบุรี อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอผักไห่และอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางปะหัน อำเภอมหาราช และอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอศรีประจันต์ อำเภอสามชุก และอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี
ประวัติศาสตร์
อ่างทองในอดีตนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่มานานหลายร้อยปี เพราะท้องที่ของอ่างทองเป็นที่ราบลุ่มลักษณะคล้ายอ่าง ไม่มีภูเขา ป่า หรือแร่ธาตุ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค และคมนาคมตลอดมา
เมืองอ่างทอง ได้ชื่อนี้มาจากไหน มีการสันนิษฐานเป็น 3 นัย
นัยแรกเชื่อว่า คำว่า “อ่างทอง” น่าจะมาจากลักษณะทางกายภาพของพั้นที่นี้ คือเป็นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งคล้ายอ่าง ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนาที่ออกรวงเหลืองอร่ามเหมือนทอง จึงเป็นที่มาของชื่อจังหวัดอ่างทอง และดวงตราของจังหวัด เป็นรูปรวงข้าวสีทองอยู่ในอ่างน้ำ ซึ่งมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ
นัยที่สองเชื่อว่า อ่างทองน่าจะมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมที่เรียกว่า “บางคำทอง” ตามคำสันนิษฐานของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล มณฑลอยุธยา เมื่อครั้งที่กราบทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสลำแม่น้ำน้อยและลำแม่น้ำใหญ่ใน พ.ศ. 2459 ว่า ชื่อของเมืองอ่างทองก็จะมาจากชื่อ บางคำทอง ซึ่งแต่งตั้งครั้งกรุงเก่า ว่าด้วยตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครสวรรค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจากกรุงเก่า “ลุถึงบางน้ำชื่อ คำทอง น้ำป่วนเป็นฟอง คว่างคว้าง” และบางกระแสก็ว่า อาจเพี้ยนมาจากชื่อของแม่น้ำลำคลองในย่านนั้น ที่เคยมีชื่อว่า “ปากน้ำประคำทอง” ซึ่งเป็นทางแยกแม่น้ำหลังศาลากลางจังหวัด และส่วนในเข้าไปเรียกว่า “แม่น้ำสายทอง” ซึ่งปัจจุบันตื้นเขินใช้ไม่ได้แล้ว
นัยที่สามเชื่อว่า ชื่ออ่างทองน่าจะมาจากชื่อ บ้านอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือชุมนุมพระนิพนธ์เรื่องสร้างเมืองไว้ตอนหนึ่งว่า “เมืองอ่างทองดูเหมือนจะตั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวร เดิมชื่อเมืองว่า วิเศษไชยชาญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย ที่ลงมาจากนครสวรรค์ อยู่มาแม่น้ำน้อยตื้นเขิน ฤดูแล้งใช้เรือไม่สะดวก ย้ายเมืองออกมาตั้งริมแม่น้ำพระยาที่บ้านอ่างทองจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอ่างทอง”
ถึงแม้ว่าชื่อของจังหวัดอ่างทอง จะได้มาตามนัยใดก็ตาม ชื่ออ่างทองนี้เป็นชื่อที่เริ่มมาในสมัยกรุงธนบุรีหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ เมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปในอดีต สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น อ่างทองเป็นที่รู้จักในนามของเมืองวิเศษไชยชาญ ดังนั้นการศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเมืองอ่างทองนั้น หมายถึงการศึกษาความเป็นมาของดินแดนแถบนี้ย้อนกลับไปกว่า 1 พันปี เป็นสมัยที่ชื่อเสียงของเมืองอ่างทองยังไม่ปรากฏ แต่มีหลักฐานแน่ชัดว่า มีดินแดนแถบนี้มานานแล้ว และอาจจะสรุปได้ว่าดินแดนนี้มีลักษณะเด่นชัดอย่างน้อย 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้มีมนุษย์ตั้งหลักฐานอยู่กันมานานนับพัน ๆ ปี และเป็นดินแดนที่มีความสำคัญในแง่การเป็นยุทธศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา
จังหวัดอ่างทองในสมัยทวารวดีได้มีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองแล้ว แต่เป็นเมืองไม่ใหญ่โตนัก หลักฐานที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ คูเมืองที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอแสวงหา ซึ่งนายบาเซอลีเย นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้สำรวจพบ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ปัจจุบันนี้บ้านคูเมืองอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอแสวงหาไปทางทิศเหนือ 4 กิโลเมตร ในสมัยสุโขทัย ก็เข้าใจว่าผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเช่นกัน และดินแดนอ่างทองได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย โดยการสังเกตจากลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในท้องถิ่นที่อ่างทองมีลักษณะเป็นแบบสุโขทัยหลายองค์ เช่น พระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง และพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก เป็นต้น
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาระยะต้น ๆ สันนิษฐานว่าอ่างทองคงเป็นชานเมืองของกรุงศรีอยุธยา เพิ่งจะยกฐานะเป็นเมืองมีชื่อว่า “แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2127 โดยในพระราชพงศาวดารได้กล่าวถึงชื่อเมืองวิเศษไชยชาญเป็นครั้งแรกว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังทรงเป็นมหาอุปราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จยกกองทับไปรบกับพระยาพะสิมที่เมืองสุพรรณบุรี พระองค์ได้เสด็จโดยทางเรือจากกรุงศรีอยุธยา ไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนาม ที่ตำบลลุมพลี พระองค์ได้เสด็จไปประทับที่แขวงเมืองวิเศษไชยชาญอันเป็นที่ชุมพล จึงสันนิษฐานว่า เมืองวิเศษไชยชาญได้ตั้งเมืองในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ตัวเมืองวิเศษไชยชาญสมัยนั้นตั้งอยู่ทางลำแม่น้ำน้อย ฝั่งตะวันออก หมู่บ้านตรงนั้นปัจจุบันยังเรียกว่า “บ้านจวน” แสดงว่าเป็นที่ตั้งจวนเจ้าเมืองเดิม ต่อมา สภาพพื้นที่และกระแสน้ำในแควน้ำน้อยเปลี่ยนแปลงไป การคมนาคมไปมาระหว่างแม่น้ำน้อยกับแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเจ้าพระยา) เดินทางติดต่อไม่สะดวก จึงย้ายที่ตั้งเมืองไปอยู่ที่ตำบลบ้านแห ตรงวัดไชยสงคราม (วัดกระเจา) ฝั่งขวาหรือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับขนานนามให้เป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ว่า “เมืองอ่างทอง” ส่วนเมืองวิเศษไชยชาญยังคงเป็นเมืองอยู่ตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2439 จึงลดลงเป็นอำเภอ เรียกว่า อำเภอไผ่จำศีล ภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอวิเศษไชยชาญ [3],[4] และราชการก็ใช้ชื่อ อำเภอวิเศษไชยชาญ มาจนถึงอย่างน้อยวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ [5] หลังจากนั้น ก็พบว่า เมื่อ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ราชการก็ใช้ชื่อเป็น อำเภอวิเศษชัยชาญ [6] (ไม่พบหลักฐานคำสั่งให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา)
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาภูธร สมุหนายกไปเป็นแม่กองทำการเปิดทำนบกั้นน้ำที่หน้าเมืองอ่างทอง เพื่อให้น้ำไหลไปทางคลองบางแก้วแต่ไม่สำเร็จ จึงย้ายเมืองอ่างทองไปตั้งที่ปากคลองบางแก้ว ตำบลบางแก้ว ท้องที่อำเภอเมืองอ่างทองฝั่งซ้ายของแม่น้ำพระยาจนถึงปัจจุบันนี้
เมืองอ่างทองมีท้องที่ต่อเนื่องกับกรุงศรีอยุธยา เสมือนเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ชานเมืองหลวง จึงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันหลายตอน เฉพาะที่สำคัญ ๆ มีดังนี้ ราว พ.ศ. 2122 ญาณพิเชียรมาซ่อมสุมคนในตำบลยี่ล้น ขุนศรีมงคลแขวง ส่งข่าวกบฏนั้นมาถวาย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาจักรียกกำลังไปปราบปราม ตั้งทัพในตำบลมหาดไทย ญาณพิเชียรและพรรคพวกก็เข้าสู้รบกับพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีเสียชีวิตในการสู้รบ พวกชาวบ้านก็เข้าเป็นพวกญาณพิเชียร ญาณพิเชียรติดเอาเมืองลพบุรี ก็ยกกำลังไปปล้นเมืองลพบุรี จึงเกิดรบกับพระยาสีหราชเดโช ญาณพิเชียรถูกยิงตาย พรรคพวกกบฏก็หนีกระจัดกระจายไป กบฏญาณพิเชียรนับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญมากเหตุการณ์หนึ่ง ที่ชาวบ้านยี่ล้นและชาวบ้านมหาดไทย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พ.ศ. 2128 พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพมาตั้งที่บ้านสระเกศ ท้องที่ตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกกองทัพไปถึงตำบลป่าโมก ก็พบทหารพม่าซึ่งลงมาเที่ยวรังแกราษฎรทางเมืองวิเศษไชยชาญ จึงได้เข้าโจมตีทหารพม่าล่าถอยไป พระเจ้าเชียงใหม่จึงได้จัดกองทัพยกลงมา สมเด็จพระนเรศวรจึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกองทัพขึ้นตระเวนดูก่อน กองทัพระราชมนูไปปะทะกับกองทัพพม่าที่บ้านบางแก้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห จึงมีดำรสให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ทำเป็นถอยทัพกลับมา แล้วพระองค์ก็โอบล้อมรุกไล่ตีทัพพม่าแตกทั้งทัพหน้าและทัพหลวง จนถึงที่ตั้งทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ กองทัพของพระเจ้าเชียงใหม่จึงแตกพ่ายกลับไป
พ.ศ. 2130 พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทหารไทยได้เอาปืนลงเรือสำเภาขึ้นไประดมยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดี จนพระเจ้าหงสาวดีทนไม่ไหวต้องถอยทัพหลวงกลับขึ้นไปตั้งป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรเสด็จโดยขบวนทัพเรือตามตีกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงป่าโมก จนพม่าแตกพ่ายถอยทัพกลับไป
พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรกับพระเอกาทศรถยกทัพจากรุงศรีอยุธยาไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แล้วยกทัพหลวงไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ และทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ตำบลตระพังตรุ หนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ เมืองสุพรรณบุรี จนมีชัยชนะยุทธหัตถีในครั้งนั้น
พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพไปตีกรุงอังวะ เสด็จเข้าพักพลที่ตำบลป่าโมก แล้วเสด็จไปทางชลมารค ขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก ตัดไม้ข่มนามตามพระราชพิธีของพราหมณ์แล้วยกทัพไป แต่สวรรคตเสียที่เมืองหางหรือเมืองห้างหลวง สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพกลับกรุงพร้อมด้วยพระเกียรติและในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) พระองค์ได้ปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปในงานฉลองพระอาราม ได้ทรงชกมวยได้ชัยชนะถึง 2 ครั้ง สถานที่เสด็จไปก็คือ บ้านพระจันตชนบท แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ เชื่อกันว่างานฉลองวัดที่เสร็จไปนั้นอาจเป็นวัดโพธิ์ถนนหรือวัดถนน ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่ในตำบลตลาดกรวด (อำเภอเมืองอ่างทอง) นั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าดินแดนของอ่างทองยังคงความสำคัญต่อเมืองหลวง คือ กรุงศรีอยุธยา เมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ของสามัญชนที่เลื่องลือเข้าไปถึงพระราชวังในเมืองหลวง แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระทัยที่จะทอดพระเนตรและทรงเข้าร่วมด้วยกันอย่างสามัญ
พ.ศ. 2269 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์ได้เสด็จไปควบคุมชลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เพราะปรากฏว่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดป่าโมก น้ำเซาะกัดตลิ่งจนทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อาจพังลงได้ จึงมีรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์เข้าไปประดิษฐานห่างฝั่งออกไป 150 เมตร กินเวลาทั้งหมดกว่า 5 เดือน
เนื่องจากเมืองอ่างทองเคยเป็นยุทธภูมิระหว่างทหารไทยกับทหารพม่าหลายครั้ง จึงมีบรรพบุรุษของเมืองอ่างทองได้สร้างวีรกรรมอันกล้าหาญในการรบกับพม่าหลายท่าน เช่น นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ทั้งสี่ท่านเป็นชาวบ้านสีบัวทอง (ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหาในปัจจุบัน) และมีนายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล ทั้งสองท่านเป็นชาวเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ร่วมกับชาวบ้านของเมืองวิเศษไชยชาญสู้รบกับพม่าอยู่ที่ค่ายบางระจัน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และสนามรบส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอแสวงหา วีรกรรมอันกล้าหาญชาญชัยของนักรบไทยค่ายบางระจันสมัยนั้น เป็นที่ภาคภูมิใจและประทับอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนตลอดมา ประชาชนชาวเมืองอ่างทองจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายดอ และนายทองแก้วไว้ที่บริเวณวัดวิเศษไชยชาญ อำเภอวิเศษชัยชาญ โดยที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2520 ดังนั้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี ชาวเมืองอ่างทองจึงได้กระทำพิธีวางมาลาสักการะอนุสาวรีย์นายดอก นายทองแก้ว เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีในวีรกรรมความกล้าหาญของท่านเป็นประจำทุกปี
อีกครั้งของวีรกรรมของนับรบแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ คือ ขุนรองปลัดชูกับกองอาทมาต คือเมื่อปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชกาลของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ขึ้นครองราชสมบัติกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญาครองราชสมบัติกรุงอังวะรัตนสิงห์ ปกครองพม่ารามัญทั้งปวง พระองค์ให้เกณฑ์ไพร่พล 8000 ให้มังฆ้องนรธาเป็นนายทัพยกมา ตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี พระเจ้าเอกทัศทรงเกณฑ์พล 5000 แบ่งเป็นสองทัพ โดยให้พระราชรองเมืองว่าที่ออกญายมราชคุมทัพใหญ่พล 3000 แลให้ออกญารัตนาธิเบศร์คุมทัพหนุนพล 2000 ในครั้งนั้นมีครูฝึกเพลงอาวุธอยู่ในเมืองวิเศษไชยชาญอยู่ผู้หนึ่ง ชื่อ ครูดาบชู ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศให้เป็นปลัดเมือง กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ชาวบ้านจึงเรียนว่าขุนรองปลัดชู นำกองอาทมาต 400 มาอาสาศึก แลได้ติดตามไปกับกองทัพออกญารัตนาธิเบศร์ เมื่อเดินทางข้ามพ้นเขาบรรทัดก็ได้ทราบว่า เมืองมะริดและตะนาวศรีเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงตั้งทัพรออยู่เฉย ๆ โดยทัพพระราชรองเมืองตั้งอยู่ที่แก่งตุ่มตอนปลายแม่น้ำตะนาวศรี ส่วนออกญารัตนาธิเบศร์ตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี แต่ให้กองอาทมาตมาขัดตาทัพรอที่อ่าวหว้าขาว
จากนั้นสามวันทัพพม่าเข้าตีทัพไทยที่แก่งตุ่มแตกพ่าย และยกมาเพื่อเข้าตีทัพหนุน กองอาทมาตของขุนรองปลัดชู ได้รับคำสั่งให้ตั้งรับพม่าที่ตำบลหว้าขาวริมทะเล ครั้นพอเพลาเช้า ทัพพม่า 8000 ก็ปะทะกับกองอาทมาต 400 นาย ทัพทั้งสองปะทะกันดุเดือดจนถึงเที่ยง มิแพ้ชนะ แต่ทัพไทยพลน้อยกว่าก็เริ่มอ่อนแรง ขุนรองปลัดชูรบจนสิ้นกำลังถูกทหารพม่ารุมจับตัวไป จากนั้นพม่าให้ช้างศึกเข้าเหยียบย่ำทัพไทยล้มตายเป็นอันมาก กองอาทมาต 400 คนตายแทบจะสิ้นทั้งทัพ เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของกองอาสาวิเศษไชยชาญในครั้งนั้น จึงได้มีการสร้างวัดขึ้นเป็นที่ระลึกแก่นักรบกล้าทั้ง 400 คนโดยเรียกกันว่า “วัดสี่ร้อย”
การปกครองแบ่งออกเป็น 7 อำเภอ 73 ตำบล 513 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองอ่างทอง
อำเภอไชโย
อำเภอป่าโมก
อำเภอโพธิ์ทอง
อำเภอแสวงหา
อำเภอวิเศษชัยชาญ
อำเภอสามโก้